สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยชนิดหนึ่งในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น สิวจะค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนหายไปในที่สุด แต่ผู้ป่วยบางรายยังคงมีอาการสิวเป็นๆ หายๆ หลังพ้นจากวัยรุ่นไปแล้ว เนื่องจากสิวเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน (sebaceous) ทำให้เรามักจะพบสิวในบริเวณที่มีต่อมไขมันมากเช่น ใบหน้า หน้าอก หลังส่วนบน คอ ไหล่ หรือต้นแขน โดยจะพบได้หลายระยะทั้งสิวอุดตัน เช่นสิวหัวเปิดสีดำ หรือสิวหัวปิดซึ่งจะเห็นเป็นหัวขาวๆ อยู่ใต้ผิวหนัง ต่อมาอาจจะกลายเป็นสิวอักเสบเห็นเป็นตุ่มแดง (papulonodular) ได้ บางรายถ้าการอักเสบเป็นมากอาจพบเป็นตุ่มหนอง (pustule) หรือเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังที่เรียกว่าสิวหัวช้าง (nodulocystic) ได้ด้วย โดยทั่วไปแล้ว อาการสิวอักเสบอาจหายได้เองในเวลาหลายๆปี โดยที่ไม่ได้รักษา แต่การที่มีสิวอักเสบนั้น จะทำให้เสียความมั่นใจ และมีความกังวลใจได้ นอกจากนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดแผลเป็นตามมา ดังนั้น การรักษาสิวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดตามมาภายหลัง
สาเหตุของการเกิดสิว
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง โดยระดับฮอร์โมน androgen จะมีระดับสูงในช่วงวัยรุ่น โดยเฉพาะเพศชาย ทำให้เราพบสิวในช่วงอายุนี้มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น มีการสร้างไขมันออกมามากขึ้น ทำให้มีการอุดตันของรูขุมขนตามมา เกิดเป็นสิวอุดตันและกลายเป็นสิวอักเสบในที่สุด ผู้หญิงบางรายอาจมีสิวเห่อมากขึ้นในระยะก่อนมีประจำเดือนได้เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีการบวมของรูขุมขน และการคั่งของน้ำในร่างกาย นอกจากนี้การหลุดลอกของผิวหนังที่ผิดปกติทำให้มีการหนาตัวของผิวหนังบริเวณรูเปิดของรูขุมขนและแบคทีเรียที่สำคัญคือ Propionibacterium acne ก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดสิวได้ด้วย
เดิมเชื่อว่าอาหารบางชนิดเช่น ช็อกโกแลต หรืออาหารมันๆ ทำให้เกิดสิว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังไม่มีการทดลองใดๆ พบว่าอาหารเป็นสาเหตุของการเกิดสิว แต่ถ้าสังเกตได้ว่าอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำให้อาการสิวอักเสบแย่ลง อาจลองหลีกเลี่ยงหรือหยุดรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ แล้วสังเกตว่าอาการสิวอักเสบดีขึ้นหรือไม่
เนื่องจากการใช้เครื่องสำอางเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวอุดตันและเกิดเป็นสิวอักเสบตามมา ดังนั้นในคนที่มีโอกาสเป็นสิวง่าย แนะนำให้พยายามใช้เครื่องสำอางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำมัน และมีน้ำเป็นส่วนประกอบ (oil-free, water-based) และควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ (noncomedogenic และ non-acnegenic) ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดสิวหัวเปิดหรือสิวหัวปิด นอกจากนี้ การใช้สเปรย์หรือเจลบำรุงเส้นผม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณใบหน้า และควรทำความสะอาดใบหน้าทุกวันด้วยสบู่หรือสารทำความสะอาดอย่างอ่อน การล้างหน้าบ่อยครั้งหรือการขัดถูผิวหน้ามากเกินไป อาจทำให้สิวแย่ลงได้
การรักษา
การรักษาสิวโดยทั่วไปคือการป้องกันการเกิดสิวใหม่ และลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษา ปัจจุบันการรักษาสิวมีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน โดยการเลือกใช้วิธีรักษาแบบใด ขึ้นกับความรุนแรงของสิวในขณะนั้น
ยาทาเฉพาะที่ที่ใช้ในการรักษาสิวมีหลายกลุ่มด้วยกันเช่นยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว แต่เนื่องจากถ้าใช้แต่เพียงตัวเดียว อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ จึงควรใช้ร่วมกับยาทาในกลุ่มอื่นๆ เช่นยากลุ่ม benzoyl peroxide โดยทาทิ้งไว้ 5-10 นาที จะช่วยลดสิวอุดตันและลดการอักเสบของสิวได้ และยาในกลุ่มวิตามินเอซึ่งจะช่วยลดการเกิดสิวอุดตันและช่วยทำให้สิวอุดตันที่เกิดขึ้นแล้วหลุดลอกออกไปได้โดยง่าย ยาทาเฉพาะที่ส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจทำให้เกิดรอยแดง แห้งหรือลอกได้ ดังนั้นจึงควรทาบางๆ และเริ่มใช้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน ถ้ามีอาการระคายเคืองให้หยุดยาดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีอาการแสบหรือแดงก็สามารถทายาปริมาณมากขึ้น หรือทายาแล้วทิ้งเอาไว้นานขึ้นก่อนจะล้างออกได้
ในกรณีที่สิวอักเสบเป็นรุนแรง การใช้ยาทาแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งยาปฏิชีวนะแบบกิน และยาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ซึ่งยาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอนี้มักจะได้ผลดีในการรักษาสิวแต่ราคาค่อนข้างสูงและมีผลข้างเคียงที่คือทำให้ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง ตาแห้ง ซึ่งต้องระมัดระวังในผู้ที่ใส่คอนแทค เลนส์ เพราะอาจทำให้มีการระคายเคือง ผลข้างเคียงอื่นที่พบคืออาจทำให้ระดับไขมันในร่างกายหรือการทำงานของตับผิดปกติ นอกจากนี้ยังห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์เนื่องจากจะทำให้ทารกในครรภ์พิการ จึงควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังและอยู่ในการดูแลของแพทย์ นอกจากยาข้างต้นแล้ว การใช้ฮอร์โมนในรูปของยาคุมกำเนิดบางชนิด อาจทำให้สิวอักเสบในผู้ป่วยบางรายดีขึ้นได้โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสิวสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน
การรักษาด้วยการกดสิวอาจทำโดยแพทย์ผู้รักษาเพื่อขจัดสิวอุดตัน แต่ผู้ป่วยไม่ควรบีบหรือแกะสิวเอง เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำลงไปบริเวณนั้น และทำให้เกิดรอยดำหรือแผลเป็นตามมาได้ ในกรณีที่สิวอักเสบเป็นมาก แพทย์อาจพิจารณาฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์เข้าไปในตำแหน่งที่เกิดสิวอักเสบนั้น ก็จะช่วยให้สิวยุบลงได้
credit :
รศ.พญ.ปภาพิต ตู้จินดา
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล